วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2553

วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ รองประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการบริหารเงินส่วนบุคคล

วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ
1) ควรตั้งเป้าหมายในการบริหารเงินอย่างไร
เป้า หมายสูงสุดของการบริหารเงิน คือ อิสรภาพทางการเงิน (Financial Independence) คือ การไม่มีหนี้หรือมีเงินใช้จ่ายที่เพียงพอแม้ว่าจะเจ็บป่วยหรือไม่ได้ทำงานก็ตาม โดยใช้รายได้จากผลตอบแทนจากการลงทุน ค่าเช่า มาเลี้ยงดูตนเองได้ ซึ่งบางคนก็ก้าวเข้าสู่ความมีอิสรภาพทางการเงินได้ตั้งแต่อายุน้อย เนื่องจากมีการวางแผนที่ดี ไม่จำเป็นต้องรอจนเกษียณก็ได้

2) เคยลองทำตามคู่มือหรือหนังสือบริหารเงินต่างๆ แต่พอเวลาผ่านไปไม่สามารถทำตามแผน ได้ เราควรทำอย่างไร
ชีวิต คนเราเกิดสิ่งที่ไม่คาดฝันได้ตลอด เหมือนกับการไปเดินเล่นในสวนสาธารณะที่อาจแวะถ่ายรูป เก็บดอกไม้ แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาเดินในเส้นทางเดิม เช่นเดียวกับการบริหารเงินที่บางครั้งอาจมีความจำเป็นต้องใช้เงินในยามฉุก เฉิน ก็อาจนำเอาเงินออมออกมาใช้ได้ แต่เมื่อผ่านพ้นภาวะนั้นไปแล้ว ก็ควรกลับมาวางแผนการเงินให้ได้ตามเดิม ก็จะทำให้ผ่านอุปสรรคไปได้ง่ายขึ้น บรรลุเป้าหมายตามเวลาที่กำหนดได้ไม่ยาก

3) สัดส่วนหนี้กับรายได้ควรต้องเป็นอย่างไร
สัด ส่วนหนี้ที่ไม่ดี และถึงจุดอันตรายคือ ไม่สามารถผ่อนได้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งตามทฤษฎีกล่าวว่า สัดส่วนเงินที่ใช้ในการผ่อนหนี้ควรไม่มากเกินกว่า 35% ของรายได้ เพราะที่เหลือเราจำเป็นต้องใช้จ่าย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีฐานภาษีสูงถึง 30% แปลว่าจะต้องเหลือเงินสำหรับใช้จ่ายเพียง 70% การที่ต้องผ่อนหนี้ถึง 35% นับว่าสูงทีเดียว เพราะจะเหลือสัดส่วนสำหรับการใช้จ่ายจริงเพียง 35% เท่านั้น สำหรับผู้ที่มีภาระหนี้มาก ก็ควรเลือกปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการกู้ใหม่ (Refinance) เพื่อให้ได้รับอัตราดอกเบี้ยจากภาระหนี้ลดลง โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยหนี้บัตรเครดิตอยู่ที่ 18% สินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) อยู่ที่ 12-15% และสำหรับผู้ที่มีบ้านเป็นหลักประกันก็อาจเสียอัตราดอกเบี้ยเพียงแค่ 5-6% แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรกู้นอกระบบ เพราะจะทำให้ภาระหนี้ยิ่งสูงขึ้นและสร้างความเดือดร้อนเพิ่มขึ้นได้ เพราะอาจมีความสามารถจ่ายได้เพียงแค่ดอกเบี้ยเท่านั้น

4) เราควรจะแบ่งสัดส่วนหนี้สำหรับบ้าน รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างไร
ไม่ สามารถแบ่งสัดส่วนที่ชัดเจนได้ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล แต่หากจะเป็นหนี้ แนะนำว่าควรเป็นหนี้บ้าน เพราะเป็นสินทรัพย์ที่ดี มีคุณค่าทางจิตใจ และยังถือเป็นการลงทุนหรือการเก็บเงินได้อย่างหนึ่งด้วย โดยอาจเอาเงินที่ใช้ผ่อนไปทำอย่างอื่นได้ โดยหากแบ่งเป็นตามภาระหนี้ 100% แล้ว ควรเป็นหนี้บ้านในสัดส่วนที่มากที่สุด เพราะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ สำหรับรถยนต์ควรเก็บเงินไปซื้อ และกู้ให้น้อยที่สุด เพราะอัตราดอกเบี้ยของรถสูงมาก แต่สำหรับวัยเริ่มทำงานอาจมีความจำเป็นต้องใช้รถ เช่นเดียวกับเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็ควรเก็บเงินให้ได้ก่อนจึงค่อยซื้อ เพราะราคาไม่แพง และไม่ควรกู้ เพราะจะมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าการกู้ซื้อบ้าน

5) สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มทำงานและอยากซื้อคอนโดมิเนียมในเมือง มีคำแนะนำให้เริ่มเก็บเงินอย่างไร
การ เริ่มซื้อบ้านหลังแรก ควรดูกำลังการผ่อนต่อเดือนของตนเอง เช่น หากสามารถผ่อนได้ 6,000 บาทต่อเดือน การกู้เงินระยะเวลา 30 ปี จะสามารถกู้ได้ประมาณ 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 6% ต่อปี แต่เมื่อรวมกับเงินดาวน์แล้ว คอนโดมิเนียมที่จะซื้อจะมีราคาประมาณ 1.1-1.2 ล้านบาท ดาวน์ 15% ผ่อน 85% ซึ่งผู้ที่ต้องการซื้อบ้านก็ควรเก็บเงิน 6,000 บาทต่อเดือนให้ได้ประมาณ 2 ปี เพื่อให้มีเงินดาวน์ประมาณ 150,000 บาท หลังจากนั้นจึงไปเซ็นสัญญากู้เงินและผ่อนบ้านต่อไป และเมื่อเงินเดือนเพิ่มขึ้นก็ควรผ่อนให้หมดโดยเร็ว และเมื่อคาดการณ์ว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นเร็วก็อาจซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เกิน ตัว เช่น 1.5 ล้านบาท หรือ 1.8 ล้านบาท เพราะหากมีตำแหน่งหน้าที่การงานดีขึ้นในอนาคต ก็จะไม่ต้องเปลี่ยนที่พักบ่อยๆ โดยหากเงินเดือนเพิ่มขึ้นหรือได้รับโบนัสก็อาจผ่อนได้หมดภายใน 20 ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น