วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เทคนิคการเขียนแผนธุรกิจ เพื่อขอสินเชื่อสถาบันการเงินต่างๆ

การเขียนแผนธุรกิจเพื่อขอสินเชื่อหรือขอกู้สถาบันการเงินต่างหรือขอกู้แบงค์นั้น มีหลักการเขียนแผนธุรกิจ เหมือนข้างล่างนี้(เพื่อนๆสามารถนำไปประยุกต์ให้เข้ากับธุรกิจของตัวเองได้)

ในการเขียนโครงการขอกู้เงินจากสถาบันการเงินนั้น หลักการเขียนส่วนใหญ่จะเหมือนกัน แต่จะมีรายละเอียดการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกันตามประเภทธุรกิจ ซึ่งสถาบันการเงินต่าง ๆ มักจะแบ่งกลุ่มลูกค้า ออกตามประเภทของธุรกิจที่ลูกค้าประกอบกิจการอยู่ ส่วนใหญ่จะแบ่งออกดังนี้

        1. ประเภทธุรกิจอุตสาหกรรม หมายถึง การดำเนินกิจการที่เปลี่ยนสภาพวัตถุดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์ ด้วยมือ หรือเครื่องจักร หรือเคมีภัณฑ์ ตลอดจนการดำเนินงานเกี่ยวกับการประกอบชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้น ทั้งนี้รวมถึงธุรกิจอุตสาหกรรมเหมืองแร่ด้วย

        2. ประเภทธุรกิจก่อสร้างและขนส่ง จะประกอบด้วย ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจจัดสรรที่อยู่อาศัย รวมถึงธุรกิจที่มีการประมูลทางสร้างถนน เขื่อน เป็นต้น

        3. ประเภทธุรกิจสั่งสินค้าเข้า หมายถึง การประกอบกิจการหลักที่เป็นการสั่งสินค้าจากต่างประเทศ
เข้ามาจำหน่ายในประเทศ รวมทั้งการเป็นตัวแทนและนายหน้านำสินค้าเข้า อาทิเช่น กิจการนำเข้าเคมีภัณฑ์ กิจการนำเข้าอาวุธสงคราม จำหน่ายให้หน่วยราชการ เป็นต้น

        4. ประเภทธุรกิจส่งสินค้าออก หมายถึง การประกอบกิจการหลักเพื่อการส่งสินค้าออกไปจำหน่าย ยังต่างประเทศ รวมทั้งเป็นตัวแทน และนายหน้าส่งสินค้าออกไปจำหน่ายต่างประเทศด้วย เช่น บริษัทเทรดดิ้งคอมปานี กิจการส่งออกพืชไร่ เป็นต้น

        5. ประเภทธุรกิจการเกษตร หมายถึงการประกอบกิจการเกี่ยวกับการเกษตร ทั้งการประมง กสิกรรมและการเลี้ยงสัตว์ ทั้งในรูปนิติบุคคลและกลุ่มเกษตรกร สามารถแบ่งได้ดังนี้

                5.1 เกษตรกร หมายถึง ผู้ประกอบอาชีพทางการเกษตร คือ กสิกรรม ประมง และการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ เกษตรกร กลุ่มเกษตรสหกรณ์ ที่มีสมาชิกเป็นเกษตรกร และรวมทั้งบุคคลหรือ นิติบุคคล

                5.2 ธุรกิจการเกษตร หมายถึง ผู้ประกอบกิจการเกษตรในส่วนที่เป็นปัจจัยที่ใช้ในการผลิตการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร

ปัจจัยที่ใช้ในการผลิตทางการเกษตร หมายถึง ธุรกิจที่ทำการผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อเป็นปัจจัย
ทั้งทางตรงและใกล้ชิดต่อการผลิตทางการเกษตร อาทิเช่น การผลิตรถไถนา การผลิตปุ๋ย การรับจ้างเก็บเกี่ยวผลิตผลทางการเกษตร ฯลฯ

        อุตสาหกรรมเกษตร หมายถึง อุตสาหกรรมที่ใช้ผลผลิตเบื้องต้นที่เกิดจากผลิตผลทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบใน การผลิต เป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 50% ของมูลค่าวัตถุดิบทั้งหมด เช่น โรงสีข้าว โรงงานน้ำตาล โรงงานทำวุ้นเส้น ฯลฯ

        6. ประเภทธุรกิจทั่วไป จะประกอบด้วยประเภทธุรกิจค้าส่ง ค้าส่งที่ซื้อจากเกษตรโดยตรง ค้าปลีก สถาบันที่ไม่แสวงหากำไร การเงิน ธุรกิจบริการ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และอื่น ๆ

        ทั้งนี้ ผู้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ ในแต่ละประเภทและแต่ละขนาด จะใช้วงเงินสินเชื่อไม่เหมือนกันซะทีเดียว ถ้าหากเป็นธุรกิจที่ขนาดเล็กหรือขนาดกลางมักจะใช้วงเงินสินเชื่อพื้นฐานไม่กี่อย่าง แต่ถ้าหากเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มักจะใช้สินเชื่อเกือบทุกประเภทที่ ธนาคารมีอยู่ นอกจากนี้ตัวธุรกิจบางครั้งยังก้ำกึ่งกับธุรกิจประเภทอื่น ๆ เช่น ธุรกิจส่งออกหรือธุรกิจนำเข้า เป็นต้น

        โดยภาพรวมแล้ว ต่อไปเราจะต้องพร้อมที่จะเขียน การเขียนไม่ว่าจะเขียนอะไร ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่หนักใจ สำหรับเพื่อนๆที่ไม่เคยเขียน จึงขอเสนอวิธีเขียนแบบง่าย ๆ ให้นำไปใช้ได้จริง โดยขอยกตัวอย่างการเขียนโครงการขอกู้เงินของธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถนำไปเป็นตัวอย่างสำหรับธุรกิจของเราได้

หัวข้อที่ใช้ในการเขียนโครงการขอกู้เงิน

     1. หนังสือเสนอขอกู้เงินกับสถาบันการเงิน

     2. บทสรุปผู้บริหาร

         เป็นการสรุปจากแผนต่าง ๆ ทั้งด้านการตลาด การจัดการ การผลิต และการเงิน เพื่อให้ทราบถึงพันธกิจขององค์กร วัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กร พร้อมทั้งแผนที่จะไปสู่เป้าหมายอย่าง ย่อ ๆ ควรจะเขียนเป็นลำดับสุดท้ายโดยสรุปย่อ มีเนื้อหาที่กระชับ มีประเด็นสำคัญครบถ้วน

     3. ภาพรวมของกิจการ

          3.1  ประวัติความเป็นมาของกิจการ

         เป็นการกล่าวถึงแนวความคิดและความเป็นมาของกิจการว่าเกิดได้อย่างไร อะไรคือเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ

          3.2  สถานที่ตั้ง

         · เป็นที่ตั้งของกิจการ หรือโรงงาน พร้อมหมายเลขโทรศัพท์เพื่อติดต่อได้สะดวก

          3.3 ผู้ถือหุ้นและผู้บริหาร/ประสบการณ์ของผู้บริหาร

         · มีใครบ้างเป็นผู้ร่วมทุน จำนวนเงินลงทุน ความสามารถ และความชำนาญงานของแต่ละคน

          3.4 การแสดงโครงสร้างองค์กรและผังบริหารองค์กร (ถ้ามี)

          3.5 ผลการดำเนินงานในอดีต (ถ้ามี)

     4.  วัตถุประสงค์ที่จะขอสินเชื่อ

          4.1 วงเงินสินเชื่อที่ต้องการ

         · โดยแยกเป็นประเภทของสินเชื่อ เช่น เงินกู้ เงินทุนหมุนเวียน (O/D)

          4.2 จะนำสินเชื่อที่ขอครั้งนี้ไปทำอะไร

         · เช่น เพื่อซื้อที่ดิน ปรับปรุงอาคารสถานที่ ก่อสร้างอาคาร ซื้อเครื่องจักร

          4.3 เงื่อนไขที่ต้องการมีอะไรบ้าง

         · เช่น ระยะเวลาการชำระคืน อัตราดอกเบี้ย

          4.4 หลักประกันที่เสนอ

         · รายละเอียดหลักประกัน

         · มูลค่าหลักประกัน

      5.  ลักษณะและโครงสร้างธุรกิจ

           5.1 สินค้าและบริการมีอะไรบ้าง

           5.2 การตลาด การจำหน่ายในประเทศ ต่างจังหวัดหรือกรุงเทพฯ เป็นสัดส่วนเท่าใด ระยะเวลาการให้เครดิตกี่วัน หรือถ้าเป็นการจำหน่ายต่างประเทศ กลุ่มประเทศแถบใด วิธีการจำหน่ายโดยการให้ลูกค้าเปิด L/C หรือ Open Account ระยะเวลาการให้เครดิตกี่วัน

          5.3 ตลาดเป้าหมายที่ต้องการขยายเพิ่มขึ้น

         · กลุ่มลูกค้า

         · ขนาดของตลาด ความต้องการ ภาวะการผลิต

         · ตำแหน่งทางการตลาด

         · กลยุทธ์และแผนการตลาด

          5.4 การวิเคราะห์อุตสาหกรรม

          5.5 คู่แข่งขัน

     6. ลักษณะของโรงงานและแผนการผลิต

          6.1 ที่ตั้ง เนื้อที่ดิน ผู้ถือกรรมสิทธิ์

          6.2 การวางผังโรงงาน นอกอาคาร/ในอาคาร

          6.3 เครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต ประสิทธิภาพเครื่องจักร เก่า-ใหม่ แหล่งผลิต

          6.4 อาคาร สิ่งก่อสร้าง และสำนักงาน ขนาดเนื้อที่ ถาวร--ชั่วคราว เก่า-ใหม่

          6.5 ผังการบริหารในการผลิต

          6.6 แผนการดำเนินการ

          6.7 กำลังการผลิต ปัจจุบันผลิตเต็มกำลังการผลิตหรือยัง

          6.8 เทคนิคการผลิตได้มาจากไหน/กรรมวิธีในการผลิต

          6.9 แรงงานมีจำนวนเท่าใด โครงสร้างแรงงาน มีสหภาพแรงงานหรือไม่

     7. ข้อมูลทางการเงิน

     เพื่อศึกษางบทางการเงินต่าง ๆ ดูผลการดำเนินงานที่ผ่านมาและน่าจะมีความเป็นไปได้ในอนาคตข้อมูลทางการเงิน จะต้องใช้ความระมัดระวังในการประมาณการให้สอดคล้องกับการขอวงเงินสินเชื่อ

          7.1 งบดุล – งบกำไรขาดทุน (ย้อนหลัง 3 ปี) (ถ้ามีนะครับ)

          7.2 ประมาณการทางการเงินของโครงการ

         7.3 การวิเคราะห์การลงทุนของโครงการ

         7.4 งบกระแสเงินสด

         7.5 การวิเคราะห์ระยะเวลาคืนทุน

         7.6 การวิเคราะห์จุดคุ้มทุน

         7.7 การวิเคราะห์มูลค่าปัจจุบันสุทธิ

         7.8 การวิเคราะห์อัตราผลตอบแทนของการลงทุน

     8. รายละเอียดการใช้บัญชีต่าง ๆ

     เป็นการให้ข้อมูลต่อผู้วิเคราะห์ของสถาบันการเงินเพื่อแสดงความจริงใจ เปิดเผยข้อมูลไม่ปิดบังสามารถตรวจสอบได้

         8.1 ชื่อสถาบันการเงินที่เดินบัญชีทุกแห่ง พร้อมทั้งการเคลื่อนไหวทางการบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน

         8.2 รายละเอียดวงเงินสินเชื่อที่มีอยู่ / เงื่อนไข / หลักประกันกับสถาบันการเงินนั้น

     9. ภาคผนวก

          9.1 ข้อมูลลูกค้า ประกอบด้วย

         · ข้อมูลลูกค้ารายใหญ่ 5 ราย เรียงตามลำดับยอดขาย

         · แผนหรือกิจการที่จะเพิ่มยอดขายกับลูกค้าแต่ละรายข้างต้น

         · ลูกค้าเป้าหมาย

9.2 การวิเคราะห์คู่แข่ง ระบุคู่แข่งขันรายใหญ่ 3 ราย โดยประกอบด้วย

         · ระยะเวลาที่อยู่ในตลาด

         · ส่วนแบ่งตลาด

         · ราคา/กลยุทธ์

         · ระบุจุดแข็ง-จุดอ่อนของเราเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

9.3 การแบ่งส่วนตลาดและลูกค้าเป้าหมาย

กล่าวโดยสรุป ควรจะจัดทำในลักษณะรูปเล่มโดยเขียนตามหัวข้อที่กล่าวมาแล้ว กำหนดหัวข้อเขียน จะทำให้ง่ายต่อการเขียนโครงการขอสินเชื่อ และถ้ามีการทำแผนธุรกิจมาก่อน ก็สามารถที่จะนำข้อมูลจาก แผนธุรกิจมาใส่ได้ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น